Hus XI (1857-1939)

สันตะปาปาไพอัสที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๔๐๐-๒๔๘๑)

 สันตะปาปาไพอัสที่ ๑๑ เป็นประมุขของคริสตจักรระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๒-๑๙๓๙ เป็นสันตะปาปาองค์แรกที่ปกครองนครรัฐวาติกัน (Vatican City state) และทรงได้รับยกย่องว่าเป็นสันตะปาปานักวิชาการผู้สนใจปัญหาบ้านเมืองและสังคมมากที่สุดพระองค์หนึ่งทรงยึดถือนโยบาย “สันติภาพแห่งคริสตจักร” (Pax Christiana) ในการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่คริสตจักร สันตะปาปาไพอัสที่ ๑๑ ทรงกระตุ้นงานด้านการเผยแผ่ศาสนำไปยังดินแดนต่าง ๆ ทั้งในและนอกทวีปยุโรป ให้ความสำคัญด้านการทูตและการให้ความช่วยเหลือแก่ชาวคริสต์ทั่วโลก ส่วนกิจการภายในทรงยุติปัญหากรุงโรม (The Roman Question)* กับรัฐบาลอิตาลีที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่กรุงโรมถูกผนวกเข้ากับราชอาณาจักรอิตาลีใน ค.ศ. ๑๘๗๐ ด้วยการทำความตกลงระหว่างสันตะปาปากับรัฐบาล ค.ศ. ๑๙๒๙ (Concordat of 1929)* หรือกงกอร์ดา ค.ศ. ๑๙๒๙ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าสนธิสัญญาลาเทอรัน (Treaty of Lateran) ทรงยอมรับการสูญเสียกรุงโรมอย่างเป็นทางการ รวมทั้งทรงรับรองการจัดตั้งราชอาณาจักรอิตาลีและรัฐบาลอิตาลี ขณะเดียวกัน รัฐบาลอิตาลีก็ยินยอมให้จัดตั้งนครรัฐวาติกันเป็นรัฐอิสระภายในกรุงโรมและมีอำนาจอธิปไตยในการปกครองตนเอง ทั้งให้คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเป็นศาสนาประจำชาติ อิตาลี นอกจากนี้ สันตะปาปายังทรงทำความตกลงระหว่างสันตะปาปากับรัฐบาล ค.ศ. ๑๙๓๓ (Concordat of 1933)* หรือกงกอร์ดา ค.ศ. ๑๙๓๓ กับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำรัฐบาลพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party-NSDAP; Nazi Party)* เพื่อสร้างความสมานฉันท์และลดความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลกับคริสตจักรและผู้นับถือคาทอลิกในเยอรมนี แต่ในที่สุดกงกอร์ดา ค.ศ. ๑๙๓๓ ก็ถูกรัฐบาลนาซีละเมิดอย่างรุนแรงส่วนในอิตาลีในเวลาต่อมารัฐบาลเผด็จการที่นิยมลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* ซึ่งมีเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* เป็นผู้นำก็เป็นปฏิปักษ์และปราบปรามผู้นับถือนิกายคาทอลิก เช่นเดียวกัน

 สันตะปาปาไพอัสที่ ๑๑ ประสูติเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๕๗ ในครอบครัวชนชั้นกลาง ณ เมืองเดซีโอ (Desio) ในลอมบาร์ดี (Lombardy) ซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนในปกครองของจักรวรรดิออสเตรีย (Austrian Empire)* มีพระนามเดิมว่า อัมโบรโจ ดามีอาโน อากีลเล รัตดี (Ambrogio Damiano Achille Ratti) บิดามีอาชีพเป็นผู้จัดการโรงงานทอผ้าไหม ในเยาว์วัย รัตดีเป็นเด็กที่ขยันหมั่นเพียรรักการอ่านและมีสดิปัญญาเฉลียวฉลาด เป็นที่ชื่นชมของบรรดาครูเป็นอันมาก จนได้รับสมญานามว่า “หนุ่มชราผู้คงแก่เรียน” เขาได้รับการอบรมที่สามเณราลัยในลอมบาร์ดีเพื่อเตรียมตัวเป็นนักบวช ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๗๙ ขณะอายุ ๒๒ ปี รัตตีได้รับศีลบวชท่ามกลางความปลาบปลื้มของครอบครัว

 ด้วยนิสัยรักการเรียนและใฝ่รู้ บาทหลวงรัตตีได้ศึกษาจนถึงระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตและได้รับปริญญาเอกถึง ๓ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาปรัชญา สาขากฎหมายโรมันที่เกี่ยวกับศาสนา (Canon Law) และสาขาเทววิทยา จากมหาวิทยาลัย เกรกอเรียน (Gregorian University) ในกรุงโรม ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๒๒-๑๘๘๘ ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ณ สามเณราลัย ที่ปาดูอา (Padua) และเป็นผู้เชี่ยวชาญในการอ่านและตีความเอกสารเก่า รวมทั้งผลงานเขียนต้นฉบับทางศาสนาทั้งในสมัยโบราณและสมัยกลาง

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๘๘-๑๙๑๑ บาทหลวงรัตตี ย้ายไปทำงานเป็นบรรณารักษ์ที่สำนักหอสมุดอัมโบรเซีย (Biblioteca Ambrosiana - Ambrosian Library) ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมเอกสารงานต้นฉบับ และหนังสือโบราณต่าง ๆ จำนวนมาก การทำงานในหอสมุดเปิดโอกาสให้บาทหลวงรัตตีได้ศึกษาเพิ่มพูนความรู้และทำงานที่ตนรัก ตลอดจนให้ความช่วยเหลือและคำปรึกษาแก่ผู้ที่มาศึกษาค้นคว้าหาความรู้ นอกจากนี้ เขายังได้รวบรวมเอกสารต่าง ๆ บรรณาธิกร และจัดพิมพ์หนังสือสวดมนต์ฉบับสำนักหอสมุดอัมโบรเซีย (Ambrosian Missal) ขึ้น ซึ่งรวบรวมคำสอนและบทเพลงในการประกอบพิธีมิสซา นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาและเขียนชีวประวัติและผลงานของนักบุญชาลส์ บอร์โรเมโอ (Charles Borromeo) อีกด้วย ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๐๗ บาทหลวงรัตตี ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักหอสมุด เขาได้จัดทำโครงการอนุรักษ์และทำระบบการจัดเก็บและแยกประเภทหนังสือเก่าที่เป็นหนังสือสะสมของสำนักหอสมุดอัมโบรเซียขึ้นใหม่ นับว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จและสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ใช้บริการหอสมุดและผู้รักหนังสือเป็นอย่างยิ่ง

 ขณะเดียวกัน บาทหลวงรัตตียังได้ให้ความสนใจด้านกีฬาควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะกีฬาไต่เขาที่เขาโปรดปรานซึ่งเขาเห็นว่าการไต่เขาเป็นการพักผ่อนที่ดีแก่ทั้งร่างกายและจิตใจ ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๘๙ บาทหลวงรัตตีพร้อมด้วยเพื่อนนักบวชและมัคคุเทศก์ ๒ คน ได้พิชิต ยอดเขามอนเตโรซา (Monte Rosa) บริเวณพรมแดนระหว่างสวิตเซอร์แลนด์กับอิตาลีที่มีความสูง ๑๕,๔๐๐ ฟุต หรือ ๔,๒๖๐ เมตรได้สำเร็จ นับว่าเป็นชาวอิตาลีกลุ่มแรกที่สร้างปรากฏการณ์นี้ ต่อมาก็สามารถพิชิตยอดเขาแมตเตอร์ฮอร์น (Matterhorn) มงบล็อง (Mont Blanc) และเปรโซลานา (Presolana) อีกด้วย

 ใน ค.ศ. ๑๙๑๑ สันตะปาปาไพอัสที่ ๑๐ (Pius X ค.ศ. ๑๙๐๓-๑๙๑๔) ได้เชิญบาทหลวงรัตตีมาทำงานเป็นรองผู้อำนวยการสำนักหอสมุดวาติกัน และใน ค.ศ. ๑๙๑๔ ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๑๘ ในสมัยสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ ๑๕ (Benedict XV ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๒๒) เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นสมณทูต (nuncio) ผู้แทนของสันตะปาปาในโปแลนด์ซึ่งเป็นรัฐใหม่ที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘)* และยังคงมีเหตุการณ์ไม่สงบจากความสับสนทางการเมือง ลักษณะของหน้าที่ใหม่นี้นับว่าเป็นจุดหักเหที่สำคัญในชีวิตของบาทหลวงรัตตีเป้าหมายหลักของการเดินทางคือนอกจากจะยํ้าให้ชาวโปลคาทอลิกมั่นใจในความสัมพันธ์และการสนับสนุนของคริสตจักรที่มีต่อโปแลนด์แล้ว ยังจะเป็นการช่วยยับยั้งมิให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองดำเนินการปราบปรามพวกนักบวชลิทัวเนียและรูเทเนียซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในโปแลนด์อีกด้วย เมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-โปแลนด์ (Russo-Polish War ค.ศ. ๑๙๒๐-๑๙๒๑)* ขึ้นจากความขัดแย้งในปัญหายูเครน (Ukraine) และเบลารุส (Belarus) กอปรกับรัสเซียภายใต้การนำของพรรคบอลเชวิค (Bolshevik)* ก็ต้องการเข้าครอบครองโปแลนด์ซึ่งเปรียบเสมือนสะพานที่ทอดสู่ความสำเร็จของขบวนการปฏิวัติสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกด้วย เมื่อสถานการณ์เลวร้ายลงเป็นลำดับและเกิดยุทธการที่วอร์ซอ (Battle of Warsaw) ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ นักการทูตประเทศต่าง ๆ ต่างพากันลี้ภัยออกนอกประเทศ ยกเว้นบาทหลวงรัตติเท่านั้นที่ยังคงทำหน้าที่สมณทูตต่อไป นับว่าเขาได้แสดงความกล้าหาญจนเป็นที่ยกย่องทั่วไป ทั้งยังแสดงเจตนารมณ์ที่จะอยู่ช่วยเหลือชาวโปลต่อไปแม้จะต้องพลีชีพของเขา นอกจากนี้ ยังแสดงความตั้งใจเดินทางไปรัสเซียเพื่อแก้ไขปัญหาโปแลนด์ด้วยตัวเขาเองอีกด้วย

 ดังนั้น ในเวลาต่อมา เพื่อเป็นการรักษาชีวิตของบาทหลวงรัตตีและตอบแทนที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญและเสียสละ สันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ ๑๕ จึงทรงเรียกตัวเขากลับและทรงแต่งตั้งเขาให้เป็นคาร์ดินัลและอาร์ชบิชอปแห่งมิลานเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๑ หลังพิธีอภิเษกและก่อนที่จะเดินทางไปประทับ ณ เมืองมิลาน คาร์ดินัลรัตตีได้เดินทางไปแสวงบุญตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เพื่อรับพระกำลัง แห่งแรกคือโบสถ์พระแม่มารีอาแห่งเมืองลูร์ด (Our lady of Lourdes) ฝรั่งเศส ต่อมาได้เดินทางไปยังอารามแห่งมอนเตกัสซีโน (Monastery of Monte Cassino) อิตาลี ซึ่งเป็นสำนักของคณะนักบวชเบเนดิกต์เพื่อบำเพ็ญภาวนาตามลำพังเป็นเวลา ๑ เดือน เมื่อเดินทางมาถึงมิลานในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๒๑ คาร์ดินัลรัตตีก็ได้รับการต้อนรับอย่างเอิกเกริก เครื่องบินโปรยดอกไม้ไปทั่วบริเวณท่ามกลางฝูงชนจำนวนนับหมื่น ๆ คนที่เฝ้าต้อนรับ มีแตรวงและกองทหารสวนสนามนำขบวนแห่ไปยังอาสนวิหารอย่างสมเกียรติ

 อย่างไรก็ดี การครองเขตสังฆมณฑลมิลานของคาร์ดินัลรัตตีดำเนินไปได้เพียง ๓ เดือนเท่านั้น ในวันที่ ๒๒ มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๒ สันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ ๑๕ ในวัย ๖๘ พรรษาก็สิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันด้วยพระโรคปอดบวม หลังจากคณะดาร์ดินัลลงคะแนนเสียงลับเลือกสันตะปาปาพระองค์ใหม่ ๑๔ ครั้ง ซึ่งนับว่าเป็นการเลือกตั้งสันตะปาปาที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ ในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๒ คาร์ดินัลรัตตีก็ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงสูงสุดตามเกณฑ์ให้ดำรงตำแหน่งสันตะปาปาและเขาได้เลือกชื่อไพอัสซึ่งเป็นพระนามของสันตะปาปาในอดีตหลายพระองค์ที่เขชื่นชอบเป็นนามของสันตะปาปาองค์ใหม่ด้วย และใช้ชื่อสันตะปาปาไพอัสที่ ๑๑

 หลังจากได้รับเลือกตั้งแล้ว สันตะปาปาไพอัสที่ ๑๑ ทรงทำให้คริสต์ศาสนิกชนที่ต่างมาชุมนุมเพื่อฟังผลต้องแปลกใจ โดยสันตะปาปาเสด็จออกมุขหน้าบริเวณระเบียงจัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ (St. Peter) พร้อมกับให้พระพรเป็นภาษาละตินว่า Urbi et Orbi - to the city and the world [แด่นคร (กรุงโรม) และแก่โลก] ซึ่งสันตะปาปาองค์ก่อน ๆ ทรงปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามธรรมเนียมนี่ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๗๐ หรือกว่า ๕๐ ปี เมื่อสันตะปาปาทรงสูญเสียอำนาจอธิปไตยเหนือกรุงโรมที่ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอิตาลี การกระทำของพระองค์นับว่าเป็นก้าวแรกสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะสร้างทัศนคติใหม่ของคริสตจักรต่อปัญหากรุงโรมที่สันตะปาปาทุกพระองค์นับแต่สันตะปาปาไพอัสที่ ๙ (Pius IX ค.ศ. ๑๘๔๖-๑๘๗๘)* ทรงประท้วงรัฐบาลอิตาลีและจำกัดที่ประทับแต่พระราชวังวาติกัน โดยมิยอมยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมในกรุงโรมและประเทศอิตาลี

 นอกจากนี้ สันตะปาปาไพอัสที่ ๑๑ ยังทรงดำเนินนโยบายสร้างสันติแห่งคริสตจักรและยึดภาษิตว่า “สันติภาพของพระเยซูคริสต์เจ้าในอาณาจักรของพระเยซูคริสต์เจ้า” (Christ’s peace in Christ’s kingdom) ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีความหมายว่าองค์กรศาสนจักรและคริสตจักรจะต้องร่วมมือกันทำกิจกรรมเพื่อสังคม มิใช่แยกตัวออกจากสังคม ในการออกพระสมณสาสน์ Ubi arcane เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ หลังจากพระองค์เข้ารับตำแหน่งประมุขของคริสตจักร ทรงประกาศนโยบาย “กิจกรรมคาทอลิก” (Catholic Action) ขึ้น โดยให้คริสตจักรในประเทศต่าง ๆ จัดทำ “กิจกรรมคาทอลิก” ร่วมกับฆราวาสจัดตั้งกลุ่มบำเพ็ญประโยชน์ต่าง ๆ ขึ้น เพื่อให้คริสตจักรมีบทบาทในสังคมและใกล้ชิดกับประชาชนโดยทั่วไปทุกระดับชั้น รวมทั้งผู้ใช้แรงงานที่มีความสำคัญในสังคมมากขึ้น

 ส่วนในเรื่องปัญหากรุงโรม สันตะปาปาไพอิสที่ ๑๑ ก็ทรงดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างละเอียดอ่อนและใช้เวลา ๔ ปีในการประสานงานกับรัฐบาลอิตาลี ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๒๖ พระองค์ทรงเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลอิตาลีโดยมีมาร์ควิสปาเชลลี (Pacelli) เป็นตัวแทนของพระองค์ หลังการประชุมร่วมกันกว่า ๑๐๐ ครั้งและกินเวลากว่า ๒ ปีครึ่ง โดยมีบุคคลสำคัญ ๆ ของทั้ง ๒ ฝ่ายทั้งนักกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญทางเทววิทยา นักการทูต และอื่น ๆ เข้าร่วมประชุมหารือด้วย ในที่สุด ทั้ง ๒ ฝ่ายก็ได้ข้อสรุปอันเป็นที่มาของความตกลงระหว่างสันตะปาปากับรัฐบาล ค.ศ. ๑๙๒๙ หรือสนธิสัญญาลาเทอรันเพื่อยุติปัญหากรุงโรมและปลดปล่อย “นักโทษแห่งวาติกัน” ซึ่งเป็นชื่อเรียกที่เป็นนามธรรมของสันตะปาปาอันเป็นสัญลักษณ์ของการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาลอิตาลีที่เข้ายึดกรุงโรม วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๙ เบนีโต มุสโสลีนี ผู้นำรัฐบาลฟาสซิสต์อิตาลีตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๒ และคาร์ดินัล ปีเอโตร กัสปารี (Pietro Gaspari) หนึ่งในคณะผู้บริหารคริสตจักรโรมันคาทอลิกซึ่งทำหน้าที่ดูแลกิจกรรมต่างประเทศ เป็นผู้แทนของพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ (Victor Emanuel III ค.ศ. ๑๙๐๐-๑๙๔๑)* และสันตะปาปาไพอัสที่ ๑๑ ได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว มีสาระสำคัญคือรัฐบาลอิตาลียอมรับการจัดตั้งนครรัฐวาติกันเป็นรัฐเอกราชที่มีสันตะปาปาเป็นประมุขและมีอำนาจเด็ดขาดในการบริหาร การเงิน และการต่างประเทศและจ่ายเงินสดจำนวน ๗๕๐ ล้านลีร์ (lire) และพันธบัตรรัฐบาลอีก ๑,๐๐๐ ล้านลีร์แก่คริสตจักรเพื่อชดเชยดินแดนที่รัฐบาลอิตาลีได้ยึดครองระหว่างการรวมชาติอิตาลีใน ค.ศ. ๑๘๗๐ ทำให้ฐานะทางการเงินของนครรัฐวาติกันมีความมั่นคง ยิ่งเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)* และยอมรับให้คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเป็นศาสนาประจำชาติอิตาลี ในขณะเดียวกันสันตะปาปาก็ทรงให้การรับรองการสถาปนาราชอาณาจักรอิตาลีและประกาศความเป็นกลางของนครรัฐอิตาลี ทำให้เกิดความปรองดองระหว่างชาวคาทอลิกกับรัฐบาลอิตาลีที่ทำให้รัฐบาลอิตาลีมีเสถียรภาพมากขึ้น ชาวคาทอลิกสามารถสนับสนุนรัฐบาลอิตาลีได้เต็มที่หลังคริสตจักรสั่งห้ามเป็นเวลาร่วม ๖๐ ปี

 นอกจากนี้ ในทศวรรษ ๑๙๓๐ สันตะปาปาไพอัสที่ ๑๑ ซึ่งทรงมีนโยบายการสร้าง “สันติภาพแห่งคริสตจักร” ยังทรงทำข้อตกลงระหว่างสันตะปาปากับรัฐบาลอื่นๆ หรือกงกอร์ดาอีกหลายฉบับ ได้แก่ กับรัฐบาลลัตเวีย ( ค.ศ. ๑๙๒๒) โปแลนด์ ( ค.ศ. ๑๙๒๕) โรมาเนียและลิทัวเนีย ( ค.ศ. ๑๙๒๗) รัสเซีย ( ค.ศ. ๑๙๒๙) ออสเตรียและเยอรมนี ( ค.ศ. ๑๙๓๓) ในกรณีข้อตกลงระหว่างสันตะปาปากับรัฐบาล ค.ศ. ๑๙๓๓ กับเยอรมนีที่ได้กระทำในสมัยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์เป็นผู้นำ เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ นั้นเป็นการสร้างความประนีประนอมกับพรรคนาซีเพื่อประกันสิทธิของผู้นับถือนิกายคาทอลิก ศาสนสมบัติ และการดำเนินงานของคริสตจักรในเยอรมนี คริสตจักรยินยอมให้นักบวชที่มีสมณศักดิ์สูงปฏิญาณตนว่าจะจงรักภักดีต่อจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* ต่อมา เมื่อฮิตเลอร์ได้ละเมิดกฎกงกอร์ดา ค.ศ. ๑๙๓๓ ด้วยวิธีการรุนแรงและสกปรกต่าง ๆ สันตะปาปาไพอัสที่ ๑๑ จึงทรงถือเป็นโอกาสดำเนินการต่อต้านรัฐบาลทั้งฟาสซิสต์ของอิตาลีและนาซีของเยอรมนีอย่างไม่เกรงภัย ด้วยการจัดพิมพ์พระสมณสาส์น Mit Irennender Sorge (วันที่ ๑๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๗) ประณามอุดมการณ์ทางการเมืองของฟาสซิสต์อิตาลีและนาซีเยอรมนี การเหยียดหยามเชื้อชาติในเยอรมนี และระบอบการปกครองแบบอำนาจเบ็ดเสร็จของทั้ง ๒ ประเทศ รวมทั้งการละเมิดกงกอร์ดา ค.ศ. ๑๙๒๙ และ ค.ศ. ๑๙๓๓ ของรัฐบาลอิตาลีและเยอรมนี มีการลอบนำสำเนาของพระสมณสาส์นออกนอกอิตาลี (ซึ่งเป็นเอกสารต้องห้ามในอิตาลีด้วย) ออกไปเผยแพร่ยังเยอรมนีเพื่อให้บิชอปและเจ้าอาวาสของเขตสังฆมณฑลและโบสถ์วิหารทั่วไปอ่านประกาศให้สัตบุรุษและศาสนิกชนคาทอลิก (รวมทั้งพวกโปรเตสแตนต์) รับรู้รวมทั้งคริสตจักรทั่วโลกในเวลาต่อมาด้วย ขณะเดียวกัน สันตะปาปาไพอัสที่ ๑๑ ก็รณรงค์เรื่องการกดขี่ข่มเหงคริสต์ศาสนิกชนทั้งที่เป็นคาทอลิกและนิกายอื่นและการไม่นับถือพระเป็นเจ้าในสหภาพโซเวียต สาธารณรัฐเม็กซิโก และสาธารณรัฐสเปนซึ่งพระองค์เรียกว่า “ดินแดนในสามเหลี่ยมแห่งความน่าสะพรึงกลัว” (Terrible Triangle) อีกด้วย

 สันตะปาปาไพอัสที่ ๑๑ ยังทรงได้รับการยกย่องในความเป็นนักวิชาการและความทันสมัย ในช่วง ๑๗ ปี ที่ครองตำแหน่งสันตะปาปา ทรงออกพระสมณสาส์นหลายสิบฉบับซึ่งต่างสะท้อนให้เห็นแนวคิดของพระองค์ทั้งในด้านศาสนา การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนปัญหาและสภาพการณ์ที่เลวร้ายในดินแดนต่าง ๆ รวมถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นทั้งในเรื่องของเชื้อชาติและแรงงาน ขณะเดียวกัน พระองค์ก็ทรงกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปทางสังคมและอุตสาหกรรมต่อต้านลัทธิสังคมนิยมและเผด็จการฟาสซิสต์ ความไม่เชื่อในพระเป็นเจ้าและอื่น ๆ ส่วนของความทันสมัยก็ทรงสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และทรงจัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งสำนักสันตะปาปา (Pontifical Academy of Sciences) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๖ และให้นักวิทยาศาสตร์จากประเทศต่าง ๆ เป็นสมาชิกได้ นอกจากนี้ สันตะปาปาไพอัสที่ ๑๑ ยังทรงขยายห้องอ่านหนังสือในสำนักหอสมุดวาติกันและจัดตั้งสถาบันโบราณคดีคริสเตียนแห่งสำนักสันตะปาปา (Pontifical Institute of Christian Archaeology) สร้างหอศิลป์ปีโนโกเตกา (Pinocoteca) เพื่อเป็นที่จัดแสดงภาพเขียนและงานคิลปะที่เป็นของสะสมของสำนักวาติกันให้ย้ายหอดูดาวที่มีอุปกรณ์ที่ทันสมัยไปยังปราสาทกันดอลโฟ (Castel Gandolfo) ที่มีความเหมาะสมมากกว่า และทรงมีบัญชาให้บิชอปชาวอิตาลีหมั่นใส่ใจและดูแลหอจดหมายเหตุที่อยู่ในความรับผิดชอบและผึเกปรือนักบวชให้มีประสิทธิภาพทั้งสันตะปาปาไพอัสที่ ๑๑ ทรงจัดตั้งสถานีวิทยุแห่งวาติกันและพระองค์ทรงเป็นสันตะปาปาพระองค์แรกที่ใช้วิทยุและเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่เป็นสื่อในการสื่อสารถึงประชาชน

 นอกจากนี้ สันตะปาปาไพอัสที่ ๑๑ ยังทรงมีวิสัยทัศน์ในการเผยแผ่ศาสนา โดยกระตุ้นให้นักบวชทั้งบาทหลวงและภคินีคณะต่าง ๆ ในองค์กรคาทอลิกทุกนิกายย่อยส่งเสริมคณะมิชชันนารี (missionary) ให้เดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ซึ่งทำให้จำนวนมิชชันนารีคาทอลิกที่ประจำในต่างประเทศเพิ่มจำนวนมากกว่า ๒ เท่า ทั้งพระองค์ยังทรงเสริมการสถาปนาสมณศักดิ์ของนักบวชพื้นเมืองในประเทศต่าง ๆ ด้วย ใน ค.ศ. ๑๙๒๖ ได้มีการอภิเษกบิชอปชาวจีนจำนวน ๖ คนและใน ค.ศ. ๑๙๒๗ บิชอปชาวญี่ปุ่นอีก ๑ คน ทรงวางมาตรการกระตุ้นให้ผู้มีศรัทธาชาวอินเดีย ชาวจีน และชาวพื้นเมืองในอาณาบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับศีลบวช ทำให้จำนวนนักบวชพื้นเมืองเพิ่มขึ้นจากจำนวน ๓,๐๐๐ คน ในต้นทศวรรษ ๑๙๒๐ เป็น ๗,๐๐๐ คน ในปลายสมัยของพระองค์ทั้งสันตะปาปาไพอัสที่ ๑๑ ยังสร้างศรัทธาและกำลังใจให้แก่ชาวคาทอลิกด้วยการสถาปนาผู้ที่อุทิศตนสละชีวิตเพื่อนิกายคาทอลิกให้เป็นนักบุญ (saint) ได้แก่ อัลแบร์ทุส มักนุส (Albertus Magnus ค.ศ. ๑๒๐๐-๑๒๘๐) ชาวเยอรมัน เซอร์ทอมัส มัวร์ (Thomas More ค.ศ. ๑๔๗๗-๑๕๓๕) ชาวอังกฤษ เพทรัส คานิซิอัส (Petrus Canisius ค.ศ. ๑๕๒๑-๑๕๙๗) ชาวดัตช์ คอนราด ฟอน พาร์ซฮัม (Konrad von Parzham ค.ศ. ๑๘๑๘-๑๘๙๔) ชาวเยอรมัน แอนดรูว์ โบโบลา (Andrew Bobola ค.ศ. ๑๕๙๑-๑๖๕๗) ชาวโปล ดอน บอสโก (Don Bosco ค.ศ. ๑๘๑๕-๑๘๘๘) ชาวอิตาลี โดยเฉพาะเตแรส เดอ ลีซีโอ (Thérèse de Lisieaux ค.ศ. ๑๘๗๓-๑๘๙๗) ชาวฝรั่งเศสที่พระองค์เลื่อมใสเป็นอย่างมากโดยสถาปนาให้เป็นบุญราศี (beatified) และนักบุญในเวลาไล่เลี่ยกัน นอกจากนี้ พระองค์ ยังริเริ่มจัดเทศกาล (Feast of Christ the King) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๕ เพื่อตอบโต้ขบวนการต่อต้านนักบวชและความนิยมความสุขสบายในโลกด้วย

 สันตะปาปาไพอัสที่ ๑๑ ซึ่งทรงประชวรออด ๆ แอด ๆ มาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๖ มีพระอาการทรุดลง และสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๙ ด้วยอาการหอบหืดและพระหทัยวาย สิริพระชนมายุ ๘๑ พรรษา ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๕)* จะอุบัติขึ้นเพียง ๕ เดือน ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการดำเนินนโยบายก้าวร้าวของฮิตเลอร์และการขยายอำนาจของลัทธินาซีที่พระองค์ทรงพยายามต่อต้านอย่างรุนแรงในช่วงสุดท้ายของพระชนม์ชีพ.



คำตั้ง
Hus XI
คำเทียบ
สันตะปาปาไพอัสที่ ๑๑
คำสำคัญ
- กงกอร์ดา ค.ศ. ๑๙๓๓
- การรวมชาติอิตาลี
- ความตกลงระหว่างสันตะปาปากับรัฐบาล ค.ศ. ๑๙๒๙
- คานิซิอัส, เพทรัส
- บอลเชวิค
- บอสโก, ดอน
- เบลารุส
- โบโบลา, แอนดรูว์
- ปัญหากรุงโรม
- พรรคนาซี
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- มักนุส, อัลแบร์ทุส
- มัวร์, เซอร์ทอมัส
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ยุทธการที่วอร์ซอ
- ยูเครน
- โรมาเนีย
- ลัทธินาซี
- ลัทธิฟาสซิสต์
- ลัทธิสังคมนิยม
- ลิทัวเนีย
- ลีซีโอ, เตแรส เดอ
- สงครามรัสเซีย-โปแลนด์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาลาเทอรัน
- สวิตเซอร์แลนด์
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1857-1939
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๐๐-๒๔๘๑
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-